โลกของถ้อยคำ ที่ซับซ้อนขึ้น แบ่งแยกอย่างมีกฎเกณฑ์เป็นสากล กำลังตื่นขึ้น การเรียนรู้ภาษาไทย ไม่ได้มีเพียงเป้าหมายทางกายภาพที่ว่า การสะกด ถูก เขียน-อ่านคล่อง ลายมือสวย เราคาดหวังให้เด็กมีพื้นฐานของการอ่าน-เขียนที่ดี และยังต้องพัฒนาเรื่องการเขียน-อ่านที่ถูกต้องต่อเนื่องไปอีกหลายปี
ทว่ายังมีเป้าหมายคุณภาพภายใน ความมีชีวิตชีวาในถ้อยภาษา เห็นถึงความงาม ความสนุกสนาน และใช้สื่อสารได้อย่างเหมาะสม เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรียนรู้แบบแยกส่วนมากขึ้น ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่บทเรียนให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวม บทกลอนพยัญชนะ 44 ตัวได้ถูกรื้อฟื้นความจำผ่านการเคลื่อนไหวแบบ cup song การใช้ “จังหวะ” ช่วย “การจำ” ทำให้การจำไม่เป็นภาระของเด็ก
เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรียนรู้แบบแยกส่วนมากขึ้น ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่บทเรียนให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวม บทกลอนพยัญชนะ 44 ตัวได้ถูกรื้อฟื้นความจำผ่านการเคลื่อนไหวแบบ cup song การใช้ “จังหวะ” ช่วย “การจำ” ทำให้การจำไม่เป็นภาระของเด็ก
เมื่อมาถึง ป.4 พยัญชนะทั้งหมดจะถูกแยกเป็นอักษร 3 หมู่ นำพาผ่านหมู่บ้านอักษรไทย 44 หลัง โดยแบ่งเป็นหมู่บ้านอักษรสูงที่ตั้งอยู่บนเนินเขา 11 หลัง หมู่บ้านอักษรกลางบนผืนดินราบเรียบ 9 หลัง และหมู่บ้านอักษรต่ำ ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ อีก 24 หลัง ปรากฏว่า เด็ก ๆ สามารถแยกอักษรสูงออกมาได้เกือบทั้งหมด ส่วนอักษรกลางและต่ำนั้น เสียงค่อนข้างใกล้เคียงกัน ครูจึงได้นำเกมเทียบเสียง ผ่านเสียงขลุ่ย ต่ำ กลาง สูง มาให้เด็ก ๆ ได้มีประสบการณ์ รวมทั้งการเคลื่อนแบบกระโดดปรบมือสูง ๆ ปรบมือกลางลำตัว และก้มต่ำปรบมือถึงผืนดิน
หลังจากแยกอักษร สูง กลาง ต่ำ ได้แล้ว เด็ก ๆ ก็ได้ลองคิด “ประโยคสำคัญประจำหมู่บ้านอักษรเสียงกลาง ครูรู้สึกว่าค่อนข้างท้าทาย เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย จึงไม่ได้คาดหวังถึงความสมบูรณ์ของประโยค แต่อยากให้เด็ก ๆ ได้ลองดูก่อน ทว่าเมื่ออธิบายหลักของการแต่งประโยค ว่าต้องใช้คำให้ครบทุกเสียง เสียงละ 1 คำเท่านั้น ไม่ถึง 5 นาที เด็กคนหนึ่งพูดเสียงดังขึ้นมาว่า “กูจะดื้อต่อไป ไอ้บ้า” นับว่าเป็น ประโยคอักษรกลางที่มีทั้งเสียง ก จ ด ต ป อ บ ครบถ้วน!……แม้จะเป็นประโยคที่สุดท้ายครูไม่สามารถเลือกมาให้เด็ก ๆ ในชั้นเรียนท่องจำได้ แต่นับว่า พวกเขาเข้าใจแนวคิด ประสบความสำเร็จแล้วในแง่ของหลักการ แต่คงต้องทำงานเรื่องความเหมาะสมอีกสักเล็กน้อย 🙂
บรรยากาศในห้องเรียน เริ่มครึกครื้น เด็ก ๆ สนุกสนานเฮฮา เมื่อคำที่ครูปรามไม่ให้พูด กลับกลายเป็นประโยคการเรียนรู้ในห้องเรียนขึ้นมาได้ แถมยังเป็นในวิชาภาษาไทย ที่ครูประจำชั้นสอนเองอีกด้วย
เด็ก ป.4 รุ่นนี้ ไม่มีใครรู้จัก “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” มาก่อน หรืออาจจะรู้ แต่ไม่มีใครพูดขึ้นมา ข้อดีคือ ทำให้เด็กไม่ยึดติด ทำให้ง่ายที่จะเกิดความเป็นไปได้หลากหลาย แม้ว่าภายหลังที่เด็กได้เรียนเรื่องนี้แล้ว ครูจะบอกให้เด็กกลับไปถามคุณพ่อคุณแม่ว่าประโยคอักษรเสียงกลางในสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นนักเรียนคืออะไร และเด็ก ๆ ก็มาตอบว่า “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง”
มีเด็กคนหนึ่งที่กลับไปคิดประโยคอักษรเสียงกลางที่บ้าน เธอมาเล่าให้ฟัง “พ่อบอกว่าให้หนูเขียน ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง แต่หนูไม่เอา” สิ่งที่เด็กคนนี้เขียนประโยคมาให้ครูอ่านคือ “กาจ้องดูเต่าบนปากโอ่ง” ซึ่งเราจะเห็นว่า เด็กเรียงคำแบบ ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง แบบไม่สลับอักษรใดเลย แต่เรื่องราวนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัส และหาความเป็นไปได้อื่นๆ แน่นอนว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่สำเร็จในการแต่งประโยค แต่ทุกคนได้ลองพยายาม เราได้ให้ความสำคัญกับ การลองดูก่อน การไม่ทับถมกัน และการไม่น้อยเนื้อต่ำใจว่าครูไม่เลือกประโยคของเขา เรา (หมายถึงทั้งครูและเด็ก) พยายามที่จะช่วยกันสร้างบรรยากาศของห้องเรียนที่ปลอดภัยสำหรับความคิดเห็นของทุกคน
ตัวอย่างประโยคอักษรกลางที่เด็ก ๆ ช่วยกันแต่งเติม (บางคำมาจากเด็ก และครูช่วยให้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น หรือเอาประโยคของคนสองคนมารวมกัน ส่วนใหญ่แล้ว เด็กคิดคำ)
ไก่ไปอยู่บนต้นดอกจาน
แกะตั้งใจไปบึงดูอูฐ
อากงจะปลูกต้นบัวแดง
โอ้…ดอกจานบานใกล้ต้นปีบ
ใจดีอุ้มเต่ากลับไปบ้าน
กาจ้องดูเต่าบนปากโอ่ง
ปั้นกระต่ายอ้วนบนดวงจันทร์
ต่อมา เราเรียนประโยคสำคัญประจำหมู่บ้านอักษรเสียงสูง เด็ก ๆ เข้าใจรูปแบบการเลือกคำมาแต่งประโยคเป็นอย่างดี ครูไม่ต้องช่วยแนะนำเลย ไม่ถึงสิบนาที เราก็ได้ประโยคที่สมบูรณ์มาจากเด็กนักเรียนคนหนึ่งในห้อง “ฉัน เห็น ฝูง ผี เสื้อ ข้าง ถ้ำ” พวกเราทั้งห้องคิดเห็นร่วมกันทั้งหมด ว่าควรใช้ประโยคนี้ เด็ก ๆ ลงมือวาดรูป วาดถ้ำ วาดฝูงผีเสื้อ วาดดอกไม้ ในสมุดงานของตนเอง วันต่อมา เราเขียนบันทึก เพื่อเป็นบทสรุปเนื้อหาที่เรียนรู้ต่อเนื่องกันมาหลายวัน
“ประโยคสำคัญ ประจำอักษรเสียงกลาง ใจ ดี อุ้ม เต่า กลับ ไป บ้าน ประโยคสำคัญ ประจำอักษรเสียงสูง ฉัน เห็น ฝูง ผี เสื้อ ข้าง ถ้ำ ส่วนอักษรไทย ที่เหลือทั้งหมดนั้น คืออักษร เสียงต่ำเอย”
ฉัน เห็น ฝูง ผี เสื้อ ข้าง ถ้ำ ส่วนอักษรไทย ที่เหลือทั้งหมดนั้น คืออักษร เงต่ำเอย” แต่หลังจากที่ครูพูดว่าเราจดจำเฉพาะประโยคสำคัญของหมู่บ้านอักษรกลางและสูงให้ได้เพียงเท่านั้น แล้วอักษรที่เหลือก็คืออักษรเสียงต่ำทั้งหมด เด็ก ๆ ก็พากันบอกว่า ทำไมเราไม่เอาอักษรเสียงต่ำ มาทำเป็นประโยคสำคัญด้วยล่ะ หมู่บ้านอักษรเสียงต่ำอาจจะอยากมีประโยคสำคัญประจำหมู่บ้านบ้างก็ได้… ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ครูได้บอกให้พวกเขาลองไปคิดมา เปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้อื่น ๆ หลังจากบทเรียนเรื่องไตรยางศ์ เด็ก ๆ จะเข้าสู่เนื้อหา “แม่น้ำสายวรรณยุกต์” ซึ่งจะพาอักษรทั้ง 3 หมู่ (บ้าน) ไปพบกับการผันเสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ต่อไป