ปณิทาน-ความตั้งใจ


     เป้าหมายการทำงานของดุลยพัฒน์ คือ บ่มเพาะและหล่อเลี้ยงให้นักเรียนของเรามีความมุ่งมั่นในการลงมือกระทำ มีวิริยะพากเพียร มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  มีความตะหนักรู้ในความงาม และ ความสร้างสรรค์ของชีวิต  รู้คุณของสรรพสิ่ง พัฒนาความสามารถในการสังเกต แยกแยะวิเคราะห์และสังเคราะห์ รวมทั้งใคร่ครวญ อีกทั้งมีความสนใจในความเป็นไปของชีวิต

วิสัยทัศน์ของดุลยพัฒน์
ดุลยพัฒน์มีความเชื่อมั่นว่าระบบการศึกษาวอลดอร์ฟให้การศึกษาอย่างเป็นองค์รวมเพื่อทั้งชีวิตของเด็ก มิใช่แค่การศึกษาที่นำพาให้เด็กเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้น เป็นการศึกษาที่ช่วยให้เด็กค้นพบว่าตัวเองคือใคร ต้องการทำอะไรบนโลกใบนี้  กล้าตัดสินใจ อย่างไม่กลัวและพร้อมจะเรียนรู้จากความผิดพลาด-ล้มเหลว มีความยืดหยุ่น มีความเอาใจเขามาใส่ใจเรา สามารถที่จะเปิดรับความแตกต่างที่นับวันจะทวีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถอยู่กับสิ่งที่มีได้ โดยไม่ได้เลือกแต่สิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น และมีอิสระในความคิด รู้ว่าเมื่อใดที่ตัวเองตัดสินใจแล้วก็หมายถึงมีพันธะที่ต้องรับผิดชอบ
ภารกิจทางการศึกษาของดุลยพัฒน์


๑. บ่มเพาะความรักในผืนแผ่นดิน ที่มิใช่เพียงผ่านการท่องจำหรือทำตามอย่างผิวเผิน หากมาจากสิ่งแวดล้อมของผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์ให้เกิดการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน การดูแลรักษาแผ่นดิน ผืนน้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
๒. การปลูกฝังความกตัญญูรู้คุณในทุก ๆ เรื่องและในทุก ๆ โอกาส โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว  เช่น การขอบคุณอาหาร ขอบคุณแม่น้ำ ขอบคุณดวงจันทร์ ผ่านงานเทศกาลประจำปีต่าง ๆ ด้วยเราไม่สามารถที่จะสั่งสอนหรือบีบบังคับเพียงแต่คำพูดให้เด็กมีความกตัญญูรู้คุณได้อย่างแท้จริงได้ โดยไม่ผ่านการลงมือทำให้เห็น และพาเด็กทำตามตั้งแต่เล็ก ๆ โดยไม่เลือกเฉพาะโอกาสสำคัญเพียงเท่านั้น 
๓. ในช่วงวัยต้น ๆ ของเด็กซึ่งเด็กยังมีความรับผิดชอบด้วยตัวเองได้น้อยมาก และด้วยการศึกษาที่มอบให้ พัฒนาการด้านความรับผิดชอบก็จะค่อย ๆ เติบโตตามวัย  เด็ก ๆ เรียนรู้ขอบเขตของหน้าที่ความรับผิดชอบ และขอบเขตในการเล่นสนุกสนาน ความบังเทิงใจ รื่นเริงใจ อย่างมีความสมดุล กล่าวคือ การให้อิสระแก่เด็กนั้น จะต้องมีความรับผิดชอบที่เด็กสามารถทำได้ติดตามมาด้วยเสมอ เด็ก ๆ จะไม่ถูกปล่อยให้ใช้ชีวิตแบบเลือกได้ตามใจชอบ หากเด็กจะเลือกได้ในขอบเขตที่เขารับผิดชอบได้ซึ่งครูจะเปลี่ยนบทบาทไปเรื่อย ๆตามช่วงวัยของเด็ก
ในปฐมวัยครูอาจจะเสมือนญาติผู้ใหญ่และให้ขอบเขตชัดเจน ขณะเดียวกันโอบอุ้มเขาไว้ในอ้อมกอดอันมั่นคง และยืนกรานในสิ่งที่เด็กควรจะต้องทำ 
ต่อมาเมื่อชั้นประถม ครูก็เป็นผู้ที่นำทางเขาไปสู่เส้นทางต่าง ๆ ให้เขาได้มีโอกาสลิ้มรสประสบการณ์ที่เขาไม่เคยคิดจะเลือกถ้าเขาอยู่กับครอบครัว  แต่เพราะด้วยความรักที่มีต่อครูประจำชั้น เขาจึงวางใจและยอมเดินเข้าสู่ประสบการณ์ที่ครูจัดวางไว้ให้และเขามีโอกาสที่จะบอกกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของเขา
เมื่อเด็กนักเรียนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น  ครูก็เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้แนะนำเพราะวัยนี้นักเรียนสามารถคิดได้เอง มีเหตุมีผล และใคร่ครวญได้ด้วยตัวเอง สิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะรับรู้ก็คือ อิสรภาพไม่ใช่การตามใจตน และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเลือกกำกับด้วยเสมอ  และด้วยวิถีทางเช่นนี้ มนุษย์ที่ยังเยาว์ก็จะค่อย ๆ หาความสมดุลในความคิด ความรู้สึก และการลงมือทำได้ด้วยตัวเองในที่สุด
๔. ชีวิตในศูนย์การเรียนดุลยพัฒน์  เด็ก ๆ จะเรียนรู้ชีวิตตามจังหวะที่มีลักษณะแบบทั้งเปิดและปิด  ลักษณะเปิด ก็คือเด็กได้หายใจออกด้วยการไปเล่นกับเพื่อน เฮฮาสนุกสนานกับกิจกรรมต่าง ๆ กับครู  พูดคุยหัวเราะขบขัน ตื่นเต้น มีชีวิตชีวา การเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ฯลฯ  แล้วก็เข้ามาสู่จังหวะที่มีลักษณะปิด นิ่ง จดจ่อ และฝึกที่ฟัง ฯลฯ  สลับกันไปตลอด (เสมือร่างกายมนุษย์ที่มีจังหวะหายใจเข้า-หายใจออก) อันมีผลต่อการสร้างความสมดุลให้กับอารมณ์ ความรู้สึกของเด็ก  และเราเปิดโอกาสให้เด็กได้เผชิญแรงกดดันที่จำเป็นหรือปัญหาที่เหมาะสม อันจะช่วยให้เด็กพัฒนาตัวเองได้ดี มีภูมิต้านทานในชีวิต  การศึกษาในดุลยพัฒน์จึงไม่ได้เน้นให้เด็กเพลิดเพลิน บันเทิงใจ หรือให้เคร่งครัด เพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่มีลักษณะสองขั้ว สองด้าน ผสมร้อยเรียงกันไป เรามุ่งหวังว่าจะสามารถให้การศึกษาที่ค่อย ๆ นำพาเด็กออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง และค่อย ๆ ปลุกเด็กให้ตื่นขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอย่างมีศิลปะ 
๕. ความคิดมีหลายระดับ โดยคร่าว ๆ ตอนเด็กอยู่ช่วงปฐมวัย เด็กก็จะคิดตามสิ่งที่กระทำ คือ เล่นไปฝึกความคิดไป พอช่วงชั้นประถมต้น เด็กๆก็มีความคิดเชิงรูปภาพ (Pictorial thinking)   ส่วนพัฒนาการด้านความคิดเชิงนามธรรม (Abstract thinking) จะค่อย ๆ พัฒนามาภายหลัง รวมทั้งความคิดเชิงแยกส่วนวิพากษ์วิจารณ์ ความคิดเชิงตรรกะ และเมื่อบุคคลนั้นบรรลุถึงวุฒิภาวะ การคิดเชิงใคร่ครวญวิจารณญาณแยบคายก็จะเกิดขึ้นตามวัย หากสิ่งสำคัญแล้วเราเชื่อมั่นในหัวใจที่มีความต้องการที่จะผสานความคิดทั้งหมดทั้งมวลรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของตนและเพื่อนร่วมโลก โดยสรุปก็คือ “การคิดด้วยหัวใจ สำคัญกว่าการคิดด้วยสมอง” หากแน่นอนว่ากระบวนการพัฒนาความคิดของเด็กจะต้องถูกหล่อหลอมไปทีละขั้นตอนในแต่ละช่วงวัย จนกระทั่งเขาสามารถคิดด้วยหัวใจได้อย่างเป็นจริง
๖. สร้างวัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่างของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และแสวงหาสิ่งที่ร่วมกัน เพื่อจะเป็นพันธมิตรในการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ได้รับการศึกษาที่ไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเอง
๗. เราเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ดุลยพัฒน์หวังจะเตรียมนักเรียนให้เป็นศาสนิกชนที่ดีต่อศาสนาที่เขาผูกพัน ดังนั้นเราจึงเปิดกว้างต่อทุกศาสนา ขณะเดียวกันเราก็ตระหนักว่าเราอยู่ในสังคมพุทธศาสนา ดังนั้นกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ที่เป็นแก่นของศาสนา ดุลยพัฒน์ส่งเสริมสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นตลอดมา
๘. การศึกษาวอลดอร์ฟเป็นวิถีของการทำงานที่ชัดเจนและตอบโจทย์ของการให้การศึกษาแก่เด็กทั้ง ๑๒ ปีในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเป็นการศึกษาที่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม โดยตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาของดุลยพัฒน์  สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่ให้ความร่วมมือนั้น เป็นผลเชิงประจักษ์ที่ทำให้คณะครูมีความเชื่อมั่นในเส้นทางนี้ ดุลยพัฒน์ไม่ได้เลือกแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟเพียงเพราะมาจากตะวันตก หากเพราะการศึกษานี้สามารถเปิดโอกาสให้เราปรับประยุกต์เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เราอยู่ ครูจึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาและเข้าใจในรากของตนเอง 
๙. เด็กในยุคต่อไปจะไม่ใช่เด็กที่อยู่เพียงแค่ในท้องถิ่น หากจะเป็นพลเมืองของโลกทั้งใบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักรากของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักความเป็นไปของโลกและเท่าทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

Scroll to Top