ฉลอง 100 ปีระบบการศึกษาวอลดอร์ฟ

หน้าปก ฉลอง 100 ปีระบบการศึกษาวอลดอร์ฟ

ปีนี้เป็นปีที่การศึกษาวอลดอร์ฟครบ 100 ปี จากจุดเริ่มต้นที่เมืองสตุทการ์ท เยอรมัน ในปี 1919 โรงเรียนวอลดอร์ฟได้กำเนิดขึ้นเพื่อลูก ๆ ของคนงานโรงงานยาสูบที่ชื่อวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย   หลังจากนั้นแนวคิดของการศึกษาวอลดอร์ฟก็ได้แพร่หลายออกไปจากยุโรป ไปสู่ทวีปอื่นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ มีโรงเรียนในแนวการศึกษานี้นับพันกว่าแห่งทั่วโลก จนกลายเป็นเครือข่ายโรงเรียนทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ไม่เพียงให้กำเนิดการศึกษาวอลดอร์ฟเท่านั้น  ( ซึ่งบางประเทศจะเรียกว่า การศึกษาแบบสไตเนอร์ (Steiner education) หากยังริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมายหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การเกษตร ศิลปะ เศรษฐศาสตร์ การศึกษาบำบัด ยูริธมี่ บอธเมอร์ยิมนาสติกส์ สถาปัตยกรรม สังคม ฯลฯ ทุกสาขาล้วนอยู่บนฐานของมนุษยปรัชญาร่วมกัน 

 ในยุคสมัยของสไตเนอร์ นวัตกรรมใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ วิถีปฏิบัติใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ หลายอย่างเป็นความแปลกใหม่ซึ่งไม่เคยมีที่ใดมาก่อน จึงจุดชนวนให้เกิดความคลางแคลงใจ ไม่แน่ใจ เกิดคำถามข้อสงสัยขึ้นในหมู่คนทั่วไป แต่หลังจากผ่านกาลเวลา ปรากฏว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สไตเนอร์ได้ชี้แนะไว้เมื่อร้อยปีก่อน เพิ่งเป็นที่เข้าใจ ยอมรับ และได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมา ผลการศึกษาวิจัยทางการศึกษา การแพทย์ ฯลฯ ในแนวทางกระแสหลักหลายอย่างเพิ่งได้ข้อสรุปออกมาใกล้เคียงกับที่สไตเนอร์เคยว่าไว้ อาทิ 

 •    ไม่แยกเพศ    เมื่อโรงเรียนวอลดอร์ฟได้กำเนิดขึ้นมา นโยบายของสไตเนอร์คือให้เป็นโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับสมัยนั้น เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่แยกเพศ และผู้หญิงยังไม่ค่อยได้รับโอกาสให้เข้าโรงเรียนกันเท่าใดนัก ไม่เพียงแต่เท่านั้น เด็กผู้ชายยังถักนิตติ้ง เย็บผ้า เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิง  ขณะที่เด็กผู้หญิงก็ทำงานไม้ งานโลหะ เคียงบ่าเคียงไหล่เด็กผู้ชาย ในโรงเรียนวอลดอร์ฟไม่มีการแยกว่างานสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง  แต่เป็นงานของมนุษย์ที่ทุกคนทำได้เสมอกัน และควรเรียนรู้ที่จะทำเหมือน ๆ กัน เพราะช่วยให้เข้าใจวิธีสร้าง ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานในชีวิตประจำวันขึ้นมา ก่อนที่จะเรียนรู้วิธีการทำสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นต่อไป

 •    จังหวะชีวิต  เด็กยิ่งเล็กก็ยิ่งต้องการจังหวะแบบแผนที่สม่ำเสมอในแต่ละวัน   การจัดกิจวัตรประจำวัน สัปดาห์ เดือน ปี ของเด็กให้เป็นตามลำดับอย่างเต็มที่ จะช่วยให้เด็กมีความสบายใจ รู้สึกมั่นคงปลอดภัย วางใจต่อโลกและผู้ดูแล  มีชีวิตอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้  จังหวะแบบแผนเปรียบประดุจหมุดหมายในชีวิตให้เด็กยึดเหนี่ยว ช่วยให้เกิดความมั่นใจ รู้ว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร จะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป การดูแลเด็กจึงทำได้ง่ายขึ้น เด็กให้ความร่วมมือดีขึ้น ชีวิตครอบครัวราบรื่นขึ้นทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่  การจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะระดับอนุบาลในโรงเรียนวอลดอร์ฟ ยึดถือหลักการนี้มาโดยตลอด  การมีจังหวะชีวิตที่มีแบบแผนสม่ำเสมอนี้ช่วยลดการต่อล้อต่อเถียง ให้ผลดีกว่าการเกลี้ยกล่อมเด็กด้วยการให้เหตุผล หรือคะยั้นคะยอหรือบังคับ  และยังช่วยให้เด็กไม่ตกอยู่ภายใต้สภาวะที่วุ่นวายสับสน ไม่แน่ใจ สงสัย งุนงง หรืออารมณ์ปั่นป่วนในครอบครัว  จึงช่วยให้เด็กผ่อนคลาย ไม่กังวล ไม่เครียด •    ศิลปะ วัฒนธรรมของมนุษย์มีรากฐานอยู่ที่ศิลปะ คนเราจำเป็นต้องมีสุนทรีย์และมองเห็นความงามของโลก พอ ๆ กับที่จะต้องรู้จักเหตุและผล เข้าใจตรรกะ การศึกษาวอลดอร์ฟจึงให้ความสำคัญต่อศิลปะไม่น้อยไปกว่าคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่เพียงแต่เท่านั้น การสอนยังจะต้องเป็นไปอย่างมีศิลปะในทุกวิชาอีกด้วย ในระยะหลังนี้วงการศึกษาทั่วไปเริ่มยอมรับว่า ศิลปะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการศึกษาที่รอบด้าน สมดุล และมีส่วนช่วยในการเรียนวิชาการ

(เมื่อต้นปีนี้ Andreas Schieicher ผู้อำนวยการPISA (โครงการประเมินผลนักรเยนนานาชาติ) ได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการกลั่นกรองด้านการศึกษา สภาสามัญอังกฤษว่า “ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ ศิลปะอาจมีความสำคัญเหนือกว่าคณิตศาสตร์ อาตตรงข้ามกับปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อาจกลายเป็น soft skills ในอนาคต (เมื่อความจำเป็นสำหรับความรู้ลดลงไป hard skills อาจเปลี่ยนเป็นคุณสมบัติ เช่น ความอยากรู้อยากเห็น ความเป็นผู้นำ ความบากบั่น ความทรหดอดทน เราจึงจำเป็นจะต้องออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้)

•    สมุดเรียน นักเรียนวอลดอร์ฟตั้งแต่ประถมขึ้นไปจะบันทึกเนื้อหาสาระสำคัญที่เรียนลงในสมุดพร้อมกับวาดภาพประกอบ เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีผลการวิจัยพบว่า การวาดภาพเป็นวิธีที่ช่วยจดจำได้ เพราะการวาดทำให้เราต้องสังเกตรายละเอียดมากขึ้น ต้องนึกภาพในใจก่อนที่จะถ่ายทอดภาพลงบนกระดาษ จึงช่วยให้อยู่ในความทรงจำได้ดีกว่าการเขียน ไม่ว่ารูปที่วาดจะสวยงามหรือไม่ ฝีมือดีหรือไม่ก็ตาม •    บูรณาการ หลายวิชาในโรงเรียนวอลดอร์ฟจะเชื่อมโยงกัน เช่น วิชาภาษาต่างประทศ ยูริธมี่หรืองานปั้น อาจเชื่อมโยงกับวิชาหลักหรือกิจกรรมที่เรียนอยู่ในช่วงเวลานั้น   ระยะหลังมานี้วงการศึกษาทั่วไปก็ให้ความสำคัญกับการเรียนแบบบูรณาการมากขึ้น เพราะเห็นว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าการเรียนที่แต่ละวิชาแยกจากกันไม่มีส่วนเกี่ยวกัน ช่วยให้เด็กมองเห็นการเชื่อมโยงและคิดหลาย ๆ ทางได้ดีกว่า •    งานบ้านงานประจำ    ขณะที่โรงเรียนทั่วไปเห็นว่าหน้าที่ของนักเรียนคือเรียนหนังสือพ่อแม่ต้องการให้ลูกตั้งใจเรียนและทำการบ้าน แต่โรงเรียนวอลดอร์ฟเห็นความสำคัญของการให้เด็กช่วยงานที่บ้าน ที่โรงเรียนมานานแล้ว ด้วยว่าเป็นการให้เด็กมีส่วนร่วมในการดูแลสถานที่ที่ตนอยู่ และใช้เป็นการสร้างทักษะชีวิตที่สำคัญซึ่งจะติดตัวไปตลอดชีวิต ช่วยให้เด็กรู้จักทำงานที่มีความหมาย ฝึกความรับผิดชอบ เสริมสร้างความสามารถในการทำงานต่าง ๆ สร้างความมั่นใจในตัวเองจาการทำสิ่งต่าง ๆ และแก้ปัญหาได้ ตลอดจนเรียนรู้ที่จะอดทนทำงานที่จำเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ระยะหลังมีการวิจัยพบว่าเด็กที่ช่วยพ่อแม่ทำงานจะมีภาวะจิตใจดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ช่วยงานบ้าน เด็กจะรู้สึกว่าตนมีความจำเป็นต่อครอบครัว ประสบความสำเร็จในการเรียนและการงานมากกว่าเมื่อโตขึ้น มีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่า

Richard Rende นักจิตวิทยาพัฒนากรช่าวอเมริกันเห็นวา “พ่อแม่สมัยนี้ต้องการให้ลูกใช้เวลาไปกับอย่างอื่นเพื่อให้นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต แต่กลับไม่ทำสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจะนำความสำเร็จมาให้ได้ดีกว่านั่นคือ การให้ลูกทำงานบ้าน”  ซึ่งในระยะยาวการทำงานบ้านเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีกว่าการให้ลูกไปเรียนเสริมหรือทำกิจกรรมพิเศษจนไม่มีเวลาทำงานบ้านเสียอีก

•    การเรียนเป็นบล็อก  ในระดับประถมและมัธยม โรงเรียนวอลดอร์ฟเริ่มวันเรียนด้วยวิชาหลักเช่นประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียนติดต่อกันทุกวันใน 2 ชั่วโมงแรกของวันเป็นเวลา 2-6 สัปดาห์   จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นวิชาอื่น ๆ เช่นคณิตศาสตร์ ต่อเนื่องกันไปอีกหลายสัปดาห์เช่นกัน ต่อมาโรงเรียนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วอลดอร์ฟบางแห่งก็เริ่มเห็นประโยชน์ของการเรียนเป็นบล็อกและขยายเวลาเรียนช่วงละมากกว่า 1 คาบเรียน เรียนเรื่องหนึ่งติดต่อกันไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อให้เด็กจดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่เรียนอย่างเต็มที่ต่อเนื่องกันไปแทนที่จะเรียนชั่วโมงเดียวแล้วรุ่งขึ้นเปลี่ยนไปเรียนวิชาอื่น ความสนใจจะมีได้เพียงช่วงสั้น ๆ ในแต่ละเรื่อง

 •    ไม่แยกสายหรือแผนก   ในโรงเรียนวอลดอร์ฟไม่มีการคัดเด็กที่เรียนดีไว้ด้วยกัน แยกเด็กที่เรียนได้ไม่ดีไว้อีกกลุ่มหนึ่ง เด็กทุกคนจะเรียนไปด้วยกัน ไม่ว่าจะมีความสามารถทางเรียนในระดับใด เด็กที่เรียนได้ดีในวิชาหนึ่งอาจจะไม่ถนัดอีกวิชาหนึ่งก็ได้ นอกจากนั้นโรงเรียนวอลดอร์ฟยังไม่มีการแยกให้เรียนสายวิทยาศาตร์หรือศิลปะอีกด้วยเพราะพื้นฐานของคนเราควรมีรอบด้านมีทั้งวิทย์และศิลปะ ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง  ไม่ว่าโตขึ้นจะไปเป็นวิศวกรหรือนักธุรกิจก็ควรมีศิลปะในหัวใจเช่นเดียวกับที่นักดนตรีหรือกวีควรเข้าใจหลักวิทยาศาสตร์

 •    ครูเป็นผู้ดำเนินงานในโรงเรียนร่วมกัน     โรงเรียนทั่วไปมักแยกการบริหารจัดการให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ส่วนครูดูแลรับผิดชอบเฉพาะการสอนของตน แต่ในโรงเรียนวอลดอร์ฟผู้ทำหน้าที่บริหารมาจากกลุ่มครูในโรงเรียน มีความเข้าใจในศิลปะการศึกษาแนววอลดอร์ฟ มีความเกี่ยวข้องในทางปฏิบัติต่อความต้องการทางการศึกษาของนักเรียนและครู  มีความสัมพันธ์ที่มีชีวิตต่อแรงบันดาลใจและอุดมคติทางจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงชี้นำการดำเนินงานของโรงเรียน และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองในเชิงจิตวิญญาณ ในระยะหลัง ๆ นี้โรงเรียนทั่วไปบางแห่งในยุโรปและอเมริกาเริ่มตระหนักถึงปัญหาจากการที่ฝ่ายบริหารซึ่งไม่มีความเข้าใจในพัฒนาการเด็กและหลักการศึกษาดีพอ  จึงเปิดให้ครูมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโรงเรียน การตัดสินใจ  การจัดหลักสูตร การประเมินผลและเห็นถึงผลที่ดีที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งต่อครูและนักเรียน

 •     Senses   มนุษย์เรารับรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกภายนอกได้ด้วยประสามสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื่อมโลกภายนอกเข้ากับโลกภายในของเรา ในทางวิทยาศาสตร์เดิมพบว่า sense ของคนเรามี 5 อย่างคือการมองเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น การถูกต้องสัมผัส แต่สไตเนอร์เห็นว่าช่องทางที่เปิดให้คนเรารับรู้โลกมีอยู่ 12 ทางด้วยกัน ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในหมู่สรีรวิทยาว่า sense ของมนุษย์มีไม่ต่ำกว่า 9 sense บางคนก็เห็นว่ามีมากกว่านั้น ตั้งแต่ 14 ไปจนถึง 21 เสียด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความคำว่า sense ของแต่ละคน

 9 sense ที่ว่านี้ใกล้เคียงกับที่สไตเนอร์ระบุไว้นอกจาก 5 sense ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ยังมี Nociception (sense แห่งความเจ็บปวด ซึ่งใกล้เคียงกับ sense แห่งชีวิตที่สไตเนอร์กล่าวถึง   Thermoception ( sense แห่งอุณหภูมิหรือความอบอุ่น)    Equilibrioception (sense แห่งความสมดุล)  และ Proprioception หรือ Kinesthesia  ซึ่งใกล้เคียงกับ sense แห่งการรับรู้ภาษา  sense แห่งการเข้าใจความคิด และ sense แห่งการตระหนักถึงผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันในอนาคตก็เป็นได้

ร้อยปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วอลดอร์ฟให้การศึกษาเด็กได้ดีเพียงไร เตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับเผชิญชีวิตอย่างไร  ปลูกฝังความรักในการเรียนและการไขว่าคว้า หาความรู้ด้วยตนเองได้มากเพียงไร ในอนาคตข้างหน้าวงการศึกษาทั่วไปก็คงจะตระหนักในอีกหลาย ๆ อย่างที่วอลดอร์ฟปฏิบัติมานานแล้ว การศึกษาวิจัยต่อ ๆ ไปคงจะค้นพบคำตอบเดียวกันกับที่วอลดอร์ฟค้นพบมานานแล้วเพิ่มขึ้น

เรียบเรียงจากวารสารสะพานสายรุ้ง ปีที่22 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม 2562

Share:

บทความอื่น

ติดต่อเรา

dulyapat.org

เกี่ยวกับเรา

ร่วมสนับสนุนดุลยพัฒน์

Copyright © 2024 dulyapat.org All Rights Reserved.
Dulyapat is a Waldorf school in Thailand, officially recognized by the European Waldorf World List.
Scroll to Top