ความเป็นมาการศึกษาวอลดอร์ฟ


 การศึกษาวอลดอร์ฟเกิดขึ้นโดย รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักปรัชญา  ได้ก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.๑๙๑๙ ที่เมืองสตุทการ์ท ประเทศเยอรมนี ซึ่งยังคงตั้งอยู่จนถึงทุกวันนี้ การศึกษาวอลดอร์ฟมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ นี้  ชื่อวอลดอร์ฟจึงเป็นชื่อที่เรียกตามโรงเรียนวอลดอร์ฟสตุทการ์ท  แต่บางประเทศก็ใช้ชื่อว่า Steiner school  เช่นใน อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาฟริกา เป็นต้น ในศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาวอลดอร์ฟได้กระจายไปทั่วโลก ก่อตั้งอยู่ในทุกทวีป (แต่เพิ่งเข้ามาในเอเชียเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา  ซึ่งประเทศญี่ปุ่นอาจจะเป็นแห่งแรกในเอเชียที่รับการศึกษาวอลดอร์ฟเข้ามา)   ณ ปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วโลกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การนานาชาติของวอลดอร์ฟ มีจำนวนเป็นพันแห่ง  ทั้งนี้ไม่นับโรงเรียนที่นำแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟไปเป็นแรงบันดาลใจอีกนับไม่ถ้วน   การศึกษาที่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ยกตัวอย่างแม้ในประเทศจีน   ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลแนววอลดอร์ฟนับร้อยแห่ง และมีโรงเรียนเต็มรูปแบบถึงมัธยมปลายในเฉินตูและบางจังหวัด (ทั้งนี้แม้เป็นเรื่องยากที่จะตั้งโรงเรียนเอกชนในรูปแบบการปกครองของประเทศจีน)     ส่วนในประเทศไทยนั้น โรงเรียนวอลดอร์ฟได้เริ่มจัดตั้งขึ้นแห่งแรกเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว คือราวปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และ ณ ปัจจุบันมีโรงเรียนวอลดอร์ฟในประเทศไทยจำนวน ๓ โรงเรียน และมีอนุบาลวอลดอร์ฟอีกหลายแห่งในประเทศไทย                                                                                             
ปรัชญาหรือแนวความคิดพื้นฐานของการศึกษาวอลดอร์ฟคือ
“มนุษยปรัชญา” (Anthroposphy)  ว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์มีวิวัฒนาการอย่างไร ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจวบสิ้นชีวิต   ในมนุษยปรัชญานั้น มนุษย์ไม่ได้มีเพียงร่างกายกับใจ
หากแต่ยังมีส่วนที่เรียกว่า “ปัจเจกภาพ” 
          การศึกษาวอลดอร์ฟจึงจัดการศึกษาที่สอดคล้องไปกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์นั่นเอง
พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย
เด็กวัย ๐-๗ ปี
เป็นช่วงวัยที่เด็กจะพัฒนาเรื่องร่างกาย (Physical Body) อวัยวะต่าง ๆ  การใช้แขนขา
ที่สำคัญคือระบบประสาทจะเจริญเติบโตอย่างมากในช่วง ๓ ขวบปีแรก
เด็กจึงต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี อาหารที่ดี จังหวะชีวิตที่ดี
ภายใต้ความสัมพันธ์ที่มั่นคง เปี่ยมด้วยความรักและความอบอุ่นจากผู้ใหญ่ใกล้ชิด
อีกทั้งเด็กยังต้องการพื้นที่ที่จะเปิดโอกาสให้เขาสำรวจตรวจตรา
เรียนรู้โลกใบนี้ ผ่านการเล่นอิสระ การเล่นเป็นงานสำคัญของเด็ก ส่วนพัฒนาการด้านในของเด็กในเจ็ดปีแรกนั้น
เป็นการพัฒนาความมุ่งมั่นในการลงมือกระทำ เด็กจะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ
ที่แวดล้อมเขา เด็กต้องการเรียนรู้ว่า “โลกนี้ดี” 
ซึ่งจะเป็นช่วงวัยที่เราจะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีในแง่ของการคุณธรรม
จริยธรรม จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ 
ผู้ดูแลเด็กจะให้วินัยเชิงสร้างสรรค์อย่างไรแก่เด็ก
อันจะเป็นรากฐานสำคัญต่อไปในชีวิตข้างหน้า
เด็กวัย ๗-๑๔ ปี
ในวัยนี้การพัฒนาด้านกายภาพของเด็กยังไม่เสร็จสิ้นดี
ยังต้องพัฒนาต่อไป ขณะเดียวพัฒนาการด้านในหรือทางจิตใจหรือดวงจิต (Soul) ก็โดดเด่นมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เด็กในช่วงวัยนี้เริ่มแสดงออกถึงความชอบ
ไม่ชอบ เริ่มมีอารมณ์ มีความรู้สึกนึกคิด ที่บางคราวก็ไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาอย่างไม่รู้ทิศรู้ทาง และเมื่อผสมรวมกับฮอร์โมนวัยรุ่นที่จะพลุ่งพล่านในช่วงอายุ
๑๒-๑๔ ปีแล้ว  การศึกษาในช่วงวัยนี้ยิ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการด้านในของเด็กมากยิ่งขึ้น
หากการศึกษาที่เด็กได้รับในช่วง ๗ ปีแรก มีรากฐานอันมั่นคง
เมื่อมาถึงช่วง ๗ ปีที่สองนี้ เด็กก็จะสามารถพัฒนาอารมณ์ สังคม สติปัญญาไปอย่างมีวุฒิภาวะตามวัย

โดยเด็กในช่วงวัย ๗ ขวบเป็นต้นไปนี้  เด็กจะเริ่มต้องการ “บุคคลที่ ๓” ก็คือครู ผู้ที่จะนำพาเขาไปสู่โลกที่กว้างขึ้นในวิชาการแขนงต่าง
ๆ แต่เนื่องจากเขาอยู่ในช่วงพัฒนาการด้านในที่โดดเด่นในเรื่องความรู้สึกและอารมณ์    “ศิลปะ”
จึงเข้ามาเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากวัยที่เด็กอยู่ในช่วง ป.๑
ถึง ม.๒ นี้ จึงเป็นการเรียนรู้ผ่าน “ความงาม” ไม่ว่าจะเป็นความงามของคณิตศาสตร์
ความงามของเรขาคณิต ความงามของบทกวี ความงามในธรรมชาติ ฯลฯ  กระทั่งความประทับใจกับเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์อันจะนำมาซึ่งแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของเด็ก

กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนหากมองเป็นภาพหรือดูจากเนื้อเรื่องเล่า
ภาพแรก ๆ ในประถมหนึ่งจะเริ่มจากเทพนิยาย ไปสู่ตำนานในประถมสามและสี่ จากนั้นก็เป็นเทพปกรณัมน์
จนกระทั่งเป็นเรื่องเล่าชีวประวัติของผู้คนยิ่งใหญ่ที่เคยชีวิตอยู่บนโลกนี้จริง ๆ
ในชั้นมัธยมต้น และประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่าง ๆ ระดับชั้นที่โตขึ้นไป
เมื่อเด็กผ่านการเรียนรู้ว่า “โลกนี้ดี” (the world is good) ในช่วงต้น ๗ ปีแรกของชีวิต เมื่อมาถึงช่วงวัยนี้โลกนี้ก็จะงดงามมีชีวิตชีวา
(the world is beautiful) ครูผู้สอนจะจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของสองขั้วที่ต่างกัน
เช่น  ว่องไว-นิ่งเฉย ทุกข์-สุข
ขยัน-ขี้เกียจ เศร้า-สนุกสนาน เสียใจ-ดีใจ เพื่อเด็กจะสามารถหาความสมดุลระหว่างขั้วที่แตกต่างกันภายในของตนเองได้

ครูมีบทบาทสำคัญในช่วงวัยนี้ ในฐานะผู้นำทางไปสู่ประสบการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ฝึกฝน วิเคราะห์ และสังเคราะห์ในเรื่องที่กำลังเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ ครูประจำชั้นจึงควรอยู่กับเด็กต่อเนื่องมากที่สุดเท่าที่ทำได้  ตั้งแต่เด็กอายุ ๗ ขวบ จนถึงเมื่อเด็กอายุ ๑๔ ปี ไม่ควรเปลี่ยนครูประจำชั้นทุกปีหากไม่จำเป็น
เด็กวัย ๑๔-๒๑ ปี
 หากทั้ง ๒ ช่วงวัยที่ผ่านมา  เด็กได้มีการพัฒนามาอย่างดี เยาวชนในช่วงวัย ๑๔ ปีเป็นต้นไป ก็จะเริ่มมีคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ ถึงสิ่งนั้นว่ามีความจริงแท้อย่างไร  ซึ่งลึก ๆ แล้วก็คือความต้องการที่จะรู้จักตัวเองมากขึ้น นักเรียนในวัยนี้ต้องการรู้ว่าเขาทำอะไรได้บ้างบนโลกใบนี้ และต้องการผู้ใหญ่ที่มีความชัดเจนในความคิด และรู้จริงในสิ่งที่ตัวเองพูด เขาต้องการรู้ว่า “โลกนี้จริง” (the world is true) อีกทั้งเขายังต้องการผู้ใหญ่ใกล้ชิดที่มีความสามารถในการช่วยสร้างสภาวะสมดุลทางใจ ในยามที่เขาเผชิญความท้าทายและสูญเสียความสมดุลไปครั้งแล้วครั้งเล่า
เยาวชนในช่วงวัยนี้ปรารถนาที่จะเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ บนโลกอย่างมีความรับผิดชอบ เขาเริ่มรับรู้ความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่นอย่างชัดเจน และพัฒนาความสามารถในการยอมรับความคิดที่แตกต่าง ความสามารถที่แตกต่างของเพื่อนแต่ละคน เมื่อยอมรับแล้วก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ด้วย
ในมิติอื่น ๆ นักเรียนวัยนี้ยังต้องการความท้าทายมากยิ่งขึ้น ในเกมกีฬาเช่น การแล่นเรือใบ การยิงธนู   ละครประจำปี ที่มีการแสดงแบบเธียเตอร์  วิชาคอมพิวเตอร์  วิชาดนตรี-ออเครสตร้า ที่นักเรียนแต่ละคนจะต้องรู้จักฟังคนอื่นให้เป็น จะจดจ่อสนใจเฉพาะเครื่องดนตรีชิ้นที่ตัวเองกำลังเล่นอยู่เพียงเท่านั้นไม่ได้ นอกจากนี้เยาวชนจะออกไปฝึกงานหัตถกรรมท้องถิ่น งานผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเทคโนโลยีง่าย ๆ รวมถึงการบริการชุมชน เพื่อจะรู้จักชุมชนที่เขาอยู่มากขึ้นด้วย
คำถามที่สำคัญของเด็กช่วงวัยนี้คือ ฉันสามารถทำอะไรบนโลกใบนี้ และฉันคือใคร
เมื่อมองชีวิตอย่างเป็นองค์รวม การพัฒนาในมนุษย์คนหนึ่ง จะต้องเป็นการพัฒนาไปตามขั้นตอน ถ้าขั้นตอนพัฒนาการใดพัฒนาการหนึ่งไม่ได้พัฒนามาอย่างดี มนุษย์คนนั้นก็จะยังติดขัดในสิ่งที่ไม่อาจก้าวผ่าน อันจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตนเองในก้าวต่อไป ซึ่งถ้าเปรียบมนุษย์กับการสร้างบ้าน วัย ๐-๗   เปรียบได้กับ ฐานรากของโครงสร้างบ้าน วัย ๗-๑๔  เปรียบได้กับ ผนัง ประตู หน้าต่าง วัย๑๔-๒๑  เปรียบได้กับ ส่วนที่เป็นหลังคา การศึกษาวอลดอร์ฟจึงต้องตระหนักรู้ว่าแต่ละช่วงพัฒนาการของเด็กได้รับการพัฒนามาอย่างดีแล้วหรือไม่ และครูจะทำงานอย่างไรเพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้จนเป็นมนุษย์ที่แท้จริง


Scroll to Top