เริ่มแต่ในชั้นเล็กๆ เนิสเซอรี่และอนุบาล ที่ครูพยายามบ่มเพาะพลังความมุ่งมั่นที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงของเด็ก เรายังไม่สอนเด็กเขียนอ่านใด ๆ หากให้ความสำคัญกับการเล่นอิสระและจังหวะชีวิตที่มั่นคง ถึงอย่างนั้นเมื่อเด็ก ๆ ขึ้น ป.๑ พวกเขาก็สามารถเขียนตัวอักษรได้เลย ไม่ต้องใช้เวลาในการฝึกเขียนลากตามเส้นประ เด็ก ๆ ที่ถูกเตรียมมาเป็นอย่างดี ได้เล่นเคลื่อนไหวมาอย่างเพียงพอ กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กถูกพัฒนาเต็มที่ และมีพลังความมุ่งมั่นที่เกิดจากข้างใน (ไม่ถูกแทรกแซงด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ่อย ๆ) เมื่อถึงวัยที่จะต้องเริ่มเรียนหนังสือ ก็จะไม่ยากลำบากสำหรับพวกเขา
อีกทั้ง หากเราให้ในสิ่งที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็ก ๆ มีพลังในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในโลกการเขียนอ่าน การสอนตัวอักษรในวอลดอร์ฟนั้น สอนผ่านการเคลื่อนไหว ผ่านเรื่องเล่า เรื่องราวที่เหมาะสมกับวัย ที่ครูนำพามาสู่เด็ก ๆ สอนแบบลงรากลึกถึงความเป็นมาของตัวอักษร ผ่านภาพและเสียงที่มาพร้อมกับพยัญชนะนั้น ๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงพยายามทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครองชั้นเด็กเล็กว่าเรายังไม่ควรสอนเด็กให้อ่าน-เขียนก่อน ป.๑
หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกได้รับ “อาหาร” ทางจิตใจผ่านการเรียนรู้ของเขา ก็ยังไม่ควรให้เขาเรียนผ่านการท่องจำ
ที่เปรียบเสมือนการตัดโอกาสที่ลูกจะเรียนรู้ตัวอักษรตัวแรกด้วยความอัศจรรย์ใจ
ดวงตาของเด็กที่เป็นประกายพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ตรงหน้านั้นคือพลังที่จะทำให้เขาเชื่อมั่นว่าโลกนี้นั้นน่าค้นหา
น่าสนใจ ต่างจากเด็กที่ถูกสอนทุกอย่างมาก่อนและไม่สามารถจะละทิ้งสิ่งที่จดจำได้
ประกายตาในความสงสัยใคร่รู้ของเขาลดน้อยลงเสียแล้ว”
ครั้นเมื่อเด็ก
ๆ เติบโตขึ้น การเรียนของพวกเขาก็ยังถูกให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์”
ที่เกิดจริงกับตัวเอง การนำพาเด็กเข้าสู่บทเรียนหนึ่ง ๆ ครูคำนึงถึงหลายมิติ
ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการเรียนรู้” เมื่อเด็ก ๆ เรียนเรื่องหนึ่ง
พวกเขาไม่ได้เรียนรู้แค่เรื่องนั้นเรื่องเดียว หากทุกเรื่องที่เขาเรียน
คือทุกเรื่องที่สามารถโยงใยถึงกัน และสิ่งที่มีความหมายยิ่ง คือการที่เด็กรู้ว่า
พวกเขาเรียนไปทำไม ก.ไก่ ตัวหนึ่งมาจากไหน เลข 1 คืออะไร มีอยู่ที่ไหนบ้าง
และเมื่อรู้แล้วจะสามารถนำไปทำอะไรได้ เด็ก
ๆ เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เรียนรู้ในทุกที่
แม้แต่บนถนนเส้นเดิมที่พ่อแม่ขับรถกลับบ้านทุกวัน วันแรกที่ลูกอ่านป้ายร้าน
“ขายยา” ออกเป็นวันแรก
พ่อแม่ที่มีประสบการณ์ย่อมรู้ว่าน่าตื่นเต้นและเสี่ยงอันตรายเพียงใดกับการที่อยู่
ๆ ลูกก็ตะโกนขึ้นมาระหว่างเราขับรถ
เมื่อเขาอ่านอะไรสักอย่างหนึ่งระหว่างทางออกเป็นครั้งแรก”
การเรียนรู้จึงไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน
หากอยู่ในทุกที่ที่ผ่านพบ โลกทั้งใบกลายเป็นห้องเรียน
หากเราเห็นในสิ่งนี้ในตัวเด็กๆ นั่นคือเราเห็นคุณภาพที่จะแปรเปลี่ยนเป็นอะไรดีๆ
ก็ได้ในวันข้างหน้าของพวกเขา วันข้างหน้าที่มีความรู้ใหม่ๆ รออยู่มากมาย
หากก็ไม่ย่อท้อ เพราะเขามีพลังใฝ่รู้และมีวิธีที่จะเข้าถึงความรู้นั้น ๆ ด้วยตนเอง
เช่นนี้แล้ว เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นชั้นประถมต้น ประถมปลาย กระทั่งมัธยม การเรียนเสริม เรียนกวดวิชาในที่ต่าง ๆ จึงไม่มีผลดีกับเด็กเลย แม้ว่าจะมี “ความรู้” มากขึ้น หากความรู้นั้นเขาได้มันมาอย่างไร? การรู้จากการติว กับการรู้จากประสบการณ์ที่ครูที่เขามีความผูกพันด้วยนำพาไปนั้น ความหมายย่อมแตกต่าง กระทั่งการพาเด็กไปเรียนล่วงหน้า เมื่อเขามาเรียนในห้องเรียน ก็กลายเป็นความน่าเบื่อหน่าย หากสิ่งที่โรงเรียนกวดวิชาข้างนอกสอนแบบรวบรัดมา คือให้ผลลัพธ์และวิธีการคิดลัด เด็ก ๆ ก็จะหมดความพยายามอย่างง่าย ๆ ที่จะเรียนรู้วิธีอื่น ๆ ปิดรับมุมมองอันหลากหลาย อีกทั้งยังสร้างความยากแก่ครูผู้สอนที่ต้องค่อยโอบเด็กที่ไปเรียนมาก่อน แล้วแววตาของเขามีแต่ความเบื่อหน่ายเสียแล้ว และอาจรบกวนการเรียนของเด็กคนอื่นในชั้นไปด้วย
ความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ดูเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากที่สุด หากการศึกษานี้ที่เราต้องการให้กับเด็ก
ๆ ของเรา ก็กลับเรียกร้องความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ตลอดมา
โดยสิ่งที่ครูพยายามจะทำงานก็คือการรักษาพลังความสดใหม่ในการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ของเด็ก
และพยายามเปิดพื้นที่ให้กับผู้ปกครองในการที่จะสื่อสารเรื่องลูก เพื่อที่ทั้งเราจะนำพาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน
เพื่อประโยชน์ต่อเส้นทางการศึกษาของเด็กนั่นเอง